วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เห็นมาแล้ว ไชน่าซิตี้คอมเพล็กซ์

วันนี้จะขอว่ากันด้วยเรื่องของ China Complex อีกสักวันนะครับ เพราะพอดี ได้มีโอกาส ขับรถผ่านไปแถวบริเวณบางนา ที่เชื่อว่าน่าจะสร้างไชน่าคอมเพล็กซ์ ต้องยอมรับนะครับว่ามันใหญ่มากกก ใหญ่โตอลังการงานสร้างจริงๆ แค่จำนวนปั้นจั่นก็นับไม่ถ้วนแล้ว

เห็นแล้วผมนึกโศกเศร้าไปกับธุรกิจน้อยๆในเมืองไทยอีกหลายแห่ง และก็แอบเห็นแก่ตัวดีใจเล็กๆที่ธุรกิจของตนเองไม่ได้ไปข้องแวะกับความเปลี่ยนแปลงตรงนี้สักเท่าไหร่ ผมสังเกตดูว่าทำเล ทุกอย่างดูเหมาะเจาะลงตัวไปหมด ทั้งขนาด ทั้งทำเลที่เป็น
จุดใหญ่ใจความที่จะเข้าศูนย์กลางกรุงเทพ มีทางด่วนวิ่งจากแหล่งอื่นๆ มาลงได้ในเวลาอันรวดเร็วปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มีชุมชน หมู่บ้าน จำนวนมากในบริเวณนั้น

และที่สำคัญคือการคมนาคมขนส่ง ที่มีสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ไม่ไกล และท่ารถบรรทุก รวมถึงท่าเรือคลองเตยก็อยู่ไม่ไกลเลยจากบริเวณนั้น จะเห็นว่านี่มันทำเลทอง ทำเลเพชรจริงๆครับ

ไม่แปลกเลยที่ผู้ประกอบการชาวไทยจะเฮโลกันออกมาส่ายหน้าร้องไอ้หยา ไม่อยากให้ไชน่าซิตี้คอมเพล็กซ์เข้ามาเปิดในบ้านเรา ยกเว้นผู้ประกอบการด้านรับเหมาก่อสร้าง หรือวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ๆนั่นแหละครับที่ยิ้มแฉ่งกับผลประโยชน์มหาศาลร่วมหลายหมื่นล้านที่อาเฮีย อาซ้อจะนำมาพร้อมกับโครงการไชน่าซิตี้คอมเพล็กซ์นี้

ใครยังไม่เคยดู ถ้ามีโอกาสก็แวะไปดูกันนิดหน่อยได้นะครับ อย่างน้อยจะได้เป็นแรงกระตุ้นให้เราเริ่มคิดเริ่มทำอะไรบางอย่างกับธุรกิจของเรา ไม่ให้ตายจากไปกับการมาของพญามังกรในครั้งนี้ นึกๆเปรียบไปกับสามก๊กต้องบอกว่ามาครั้งนี้เหมือนโจโฉยกทัพเรือร้อยหมื่นมาที่ปากแม่น้ำเลยครับ แต่อนิจจาครับ เมืองไทยทุกวันนี้หาจิวยี่ หรือขงเบ้งไม่เจอสักหัวเดียว

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวทำอย่างไรดี ตอนจบ

มาถึงทางเลือกในการทำธุรกิจส่วนตัวของตนเองตอนสุดท้ายนะครับ อย่าลืมไปอ่านตอนก่อนหน้านี้นะครับ จะได้ข้อมุลครบครับ

3. ทำสิ่งที่รัก -- วิธีนี้ดูเหมือนง่ายดายนะครับ แต่เชื่อไหมครับว่า ทำคนรวยมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว หากคุณอยากมีธุรกิจของตนเอง แต่ไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวที่ร่ำรวย และไม่ได้เป็นคนหัวธุรกิจจ๋าคุณก็ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ 


เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วก็ค่อยๆทำ ค่อยๆปั้น ค่อยๆ ประคบประหงมไปเรื่อยๆ ให้มันเจริญเติบใหญ่ขึ้นเหมือนการปลูกต้นไม้ เช่น คุณอยากมีชีวิตอิสระ ไม่อยากเป็นพนักงานออฟฟิศ วันนี้จะทำอย่างไรดี คุณรู้ว่าคุณชอบทำขนม ก็เอาเลยครับ ซื้อเตามาอบ มาทำ ลองให้ญาติให้โยมกิน ปรับแต่งรสชาติอะไรใหม่ๆไปเื่รื่อยๆ เพราะหากคุณรัก คุณชอบแล้ว คุณก็สามารถอยู่กับมันและทำมันให้ดีได้นะครับ

ลองอ่านพวกกรณีศึกษา ทั้งในและต่างประเทศดูสิครับ มีจำนวนไม่น้อยเลย ที่เศรษฐีทั้งหลายทำในสิ่งที่ตนรัก ตนชอบ ชอบทำอาหาร ชอบกิน ชอบพูด ชอบค้าขาย (อันนี้ถือว่าโชคดี รวยง่าย) ชอบวาดรูป ชอบอะไรก็ได้ครับ ขอให้ไป และไปให้สุด รับประกันได้ว่า ไม่ว่าคุณจะรักอะไร ดูเหมือนไม่ทำเงินมากขนาดไหน ก็รวยได้แน่นอน คุณเคยคิดไหมครับ ว่าอาจารย์ เฉลิมชัย ทุกวันนี้มี สินทรัยพ์เท่าไหร่ ขนาดเอาเงินไปสร้างวัดเองได้ รวยไหมครับ แถมรวยอย่างมีความสุขด้วย เพราะได้ทำในสิ่งที่ตนรัก หรือย่าง ระดับโลก อันเป็นตำนาน อย่างวอเรน บัฟเฟ่ต์ ผู้โด่งดัง ผมพนันได้เลยครับว่า ให้เขามาทำธุรกิจอาหารแข่งกับเพื่อนผู้อ่านหลายๆท่าน ของผมก็สู้ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้รัก เขารักในการเล่นหุ้น เขาก็อยู่กับมัน ปลุกปั้นกับมัน ไปจนสุดทางได้


หากท่านกำลังคิดจะหาเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว แล้วคิดไม่ออกว่าจะเริ่มอะไรง่ายๆเลยครับ เริ่มจากสิ่งที่ตนรักและทำได้ดี พอเริ่มแล้ว หนทางก็จะตามมาเอง ขอให้เริ่ม ขอให้เดิน และอย่าท้อ อย่าหยุดก็พอครับ 

เพราะฉะนั้นตัวผมเองก็เริ่มทำธุรกิจส่วนตัว เข้าข่ายนี้ล่ะครับ เริ่มจากสิ่งที่รัก แล้วก็ค่อยๆประคบ ประหงมมันไป สิ่งสำคัญที่สุด คืออย่าเอาแต่คิดแล้วด่าคนอื่นครับ (ย้อนไปอ่านบทความที่เกี่ยวกับคนประเภทนี้ของผมได้ครับ) เริ่มทำไปเลยครับ เริ่มไปเลย เพื่อฝันการเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวของเรา

จบ 3 ข้อแล้วนะครับ ลองเอาไป พิจารณาปรับใช้ดู และขอให้โชคดีทุกท่านครับ

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวทำอย่างไรดี ตอนที่ 2

ตอนที่แล้วว่าด้วยทางเลือกในการมีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตนเองประการแรกแล้วนะครับลองไปอ่านกันก่อนอ่านตอนนี้นะครับ ต่อนะครับ

2. สังเกตสิ่งรอบตัว -- ประการที่สองนะครับ ให้ลองสังเกตสิ่งรอบตัวดู ลองสังเกตความต้องการของสังคมรอบตัว ดู หรือลองสังเกตสิ่งที่ขาดหายไปรอบๆตัวของคุณดู อย่าคิดเด็ดขาดครับว่า มนุษย์มีทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่เห็นจะขาดอะไร หากคุณมีทัศคติอย่างนี้ เลิกคิดไปเลยครับ ที่จะมีธุรกิจส่วนตัวของตนเอง กลับไปทำงานบริษัทไปวันๆดีกว่า โลกนี้ไม่มี และจะไม่มีอะไร Perfect ครับ ทุกอย่างต้องการอะไรใหม่ๆและการพัฒนาอยู่เสมอ

ตัวอย่างคุณตัน โออิชิ ที่ทำร้าน บุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น หรือ wedding studio ในแบบที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน วันนี้เป็นอย่างไรครับ หรือแม้แต่ MK ที่นำสุกี้หม้อไฟฟ้าเข้ามา เพื่อความปลอดภัยจากการใช้แก๊ส


หรือแม้แต่บริการ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตามชั้นล่างคอนโด ก็เกิดจากการตอบโจทย์คนเมืองสมัยใหม่ทุกสิ่ง ทุกอย่างล้วนเกิดจากความช่างสังเกตทั้งนั้น ขออย่างเดียวครับ คิดได้ แล้วต้องลองทำครับ ในครั้งแรกอาจจะต้องลองทำดูก่อน โดยยังไม่ต้องลาออกจากงานนะครับ แต่หากมันเวิร์คจริงๆแล้วค่อยตัดสินใจลาออกอย่างรอบคอบ

ในยุคนี้สมัยนี้ ที่การแข่งขันสูงขนาดนี้ หากคุณไม่เริ่มทำอะไรใหม่ๆ ทำอะไรแบบเดิมๆ แนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จนั้นยากจริงๆครับ ยิ่งถ้าไม่มีเงินถุง เงินถังแล้ว ยิ่งต้องใช้สมองและความพยายามให้มากครับ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการขายอาหาร คุณก็ทำแค่ไปซื้อเตาอบขนมมา อบขนมขาย แล้วเดินไปตระเวณขาย อันนี้ก็เป็นไปได้ครับ แต่ประสบความสำเร็จยากจริงๆ เพราะมีคนทำเหมือนคุณอีกประมาณ 3 พันกว่าราย อย่างมากคุณก็อาจอยู่ได้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เป้าหมายของการเป็นเจ้าของธุรกิจแต่คือเป้าหมายของการหลีกหนีจากการเป็นพนักงานบริษัท เพราะเบื่อหน่ายชีวิตในกรอบมากกว่า ซึ่งไม่เหมือนกันนะครับ


แต่หากคุณสังเกตสิ่งรอบข้างทำขนมอะไรสักอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือมีวิธีการในการจัดส่ง ตกแต่งอะไรที่แปลกๆใหม่ๆ โดยสังเกตจากสิ่งที่เขาทำกันอยู่เดิมๆ ธุรกิจส่วนตัวของคุณย่อมมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า ลุยถั่วไปเรื่อยๆนะครับ

หากคุณไม่ใช่คนช่างสังเกตสังกา ช่างคิด ช่างหาข้อมูลแล้ว คุณอาจไม่เหมาะนะครับ ที่จะริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ด้วยวิธีที่สองนี้

ตอนหน้าขอเสนอหนทางการเริ่มธุรกิจใหม่ตอนสุดท้ายนะครับ

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวทำอย่างไรดี ตอนที่ 1

คำถามยอดฮิตประการหนึ่งในหมู่พนักงานประจำหรือคนที่อยากมีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตนเองก็คือ เป็นพนักงานประจำอยู่และอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจจะทำอย่างไรดี หรือมีเงินทุนก้อนหนึ่งจะทำอะไรดี อันนี้ผมมีทางเลือกอยู่สามประการให้นะครับ ส่วนมากคนที่เริ่มธุรกิจจะเริ่มจากเหตุผล สามประการเหล่านี้เสมอ ในฐานะที่เป็นพนักงานประจำมาก่อน และสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเปล่าเล่าเปลือย จึงคิดว่าผมทราบความคิดความอ่านของเหล่าพนักงานประจำอยู่บ้าง

1. ต่อยอดธุรกิจที่่บ้าน -- อันนี้คงไม่ได้ทุกคนนะครับ อย่างน้อยผมก็คนหนึ่งล่ะที่เลือกข้อนี้ไม่ได้ แต่ที่แปลกก็คือบางคนสามารถเลือกเดินในทางนี้ได้ กลับไม่เลือกครับ ทั้งที่อยากมีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตนเอง และที่บ้านมีธุรกิจอยู่แล้ว ผมขอสนับสนุนอย่างแข็งขันนะครับ 


สำหรับท่านที่ ที่้บ้านมีธุรกิจให้กลับไปต่อยอด ธุรกิจที่บ้านครับ ไม่ว่าจะเล็กจะดูไม่เจ๋ง ไม่คูลอย่างไร แต่เชื่อผมเถิดครับว่า ทุกธุรกิจในโลกนี้ หากมีหัวคิดแล้วทำให้ใหญ่ได้ และเชื่อผมอีกประการหนึ่งเถิดครับว่า การต่อยอดธุรกิจที่บ้านนั้น มันเหน็ดเหนื่อยน้อยกว่า เริ่มทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองมากโขอยู่ ไม่ต้องมีทิฐิอยากสร้างทุกอย่างจากมือตนเองนะครับเพราะหากคุณทำธุรกิจที่บ้านให้ใหญ่โตได้นั้น คุณจะเป็นความภูมิใจของพ่อ แม่และวงศ์ตระกูล และคนอื่นๆที่ได้รู้จักอีกมากมาย

ผมยกตัวอย่าง ด๊อกเตอร์ ท่านหนึ่งที่ตัดสินใจไม่ทำอาชีพของตนเองมาขยายธุรกิจขายลูกชิ้นของที่บ้าน จนปัจจุบันเป็น franchise ก๋วยเตี๊ยวที่ใหญ่มากแห่งหนึ่ง ผมจำชื่อได้ไม่แน่นอนเลยไม่ขอเอ่ยนามที่นี่นะครับแต่น่าจะเป็นหลายร้อนล้าน ซึ่งถ้าเทียบไปแล้วคงจะดีกว่าการที่ท่านไปทำงานเป็นผู้บริหารบริษัทใดๆก็ตามในประเทศไทย แถมยังได้แผ่กิ่งก้านสาขา สร้างงานให้ลูก ให้หลานสบายไปชั่วลูกชั่วหลานได้อีก

เพราะฉะนั้นหากคุณอยากจะเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว หรืออยากจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง จงเริ่มจากการกลับไปที่บ้านที่ครอบครัว และญาติมิตรที่สนิท (หรือเพื่อนฝูงก็ได้ในบางโอกาสนะครับ) ว่าใครทำธุรกิจส่วนตัวอะไรอยู่และต้องการคนมาต่อยอด ต้องการคนมาหุ้น มาสืบทอด อย่าลังเลที่จะเข้าไปศึกษาและขยายเลยครับ จะได้ไม่ต้องไปเริ่มจากศูนย์สนิท เชื่อผมเถิดครับว่า ถ้ามีอยู่ที่บ้านแล้ว ทำไปเถิด เพราะเริ่มเองมันลำบากยากข้นเข็ญจริงๆ

ตอนต่อไป จะมาว่ากันถึงทางเลือกประการที่สอง ในการเริ่มธุรกิจเป็นของตนเองนะครับ

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การรักษาคนของธุรกิจ SMEs

การทำงานกับคน

เมื่อเช้านี้ขับรถมาทำงาน เห็นมีการเดินขบวน ตอนแรกก็คิดว่าเป็นเรื่องขบวนการเมืองเดิมๆนะครับ แต่พอเข้าไปใกล้ๆแล้ว เอีะ เสื้อไม่มีสีนิครับ แล้วก็ขับเลยเรียบกับขบวนที่ยาวมากไปเรื่อยๆ ก็ได้ฟังเขาบรรยาย และเห็นป้ายจึงทราบว่าเป็นพนักงานที่เดือดร้อนจากการถูก lay off โดยไม่จ่ายค่าชดเชยจากโรงงานแห่งหนึ่งหรือหลายแหล่งก็ไม่ทราบ

ส่วนตัวคงจะไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรครับ เพราะไม่รู้ตื้นลึกหนาบางใดๆ ก็ได้แต่หวังว่าจะให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขก็พอ แต่ทำให้ผมนึกถึงอะไรขึ้นมาได้ ก็คือปัญหาหลักของ SMES อีกประการหนึ่งที่อยากจะเขียนในวันนี้ก็คือเรื่องของการทำงานกับคนในของเราเองนี่แหละครับ

ในฐานะที่เป็น SMEs คุณคงไม่สามารถจะไปจ้างคนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ(ที่บางครั้งก็ไม่ได้มีคุณภาพอะไร) หรือบัณฑิตเกียรตินิยมมาสร้างทีมทำงานให้เราได้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคนทำงานตลอดเวลา เข้าใจว่าควรให้คนช่วยทำงาน ไม่ควรทำทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่ว่าคนมันไม่ได้ดั่งใจนี่สิครับ จะทำอย่างไรดี

ส่วนตัวผมเองก็ยอมรับว่ามีปัญหาเหล่านี้ แล้วถ้าใครมาบอกผมว่าทำธุรกิจไม่มีปัญหานี้เลย ก็ต้องบอกว่าถ้าไม่เก็บอาการ ก็ต้องมีวาสนาสูงส่งจริงๆครับ เพราะฉะนั้นประการแรกที่อยากจะแนะนำก็คือ ต้องทำใจนะครับว่ามันเกิดขึ้นกับทุกคน ต้องแก้เป็นเปลาะๆไป ตามกำลังและทรัพยากรที่มีอยู่ ส่วนตัวผมนั้นคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า ทำไม่ได้ดีกว่าโกงครับ จะคาดหวังให้ใครมาทำให้ได้ดั่งใจเราหมดคงไม่ได้ เพราะขนาดตัวเราเองยังทำไม่ได้ดั่งใจเราเองเลย

ส่วนอีกข้อที่อยากจะแนะนำก็คือ อย่าท้อถอยในการสร้างคนและตัดสินใจว่าเอ้า ทำเองก็ได้วะ อะไรทำนองนี้ เพราะสุดท้ายคุณก็จะเส้นเลือดสมองแตก หรือตีบตายด้วยภาระที่หนักหน่วงขึ้น แถมธุรกิจก็ไม่โตได้ดั่งใจอีกต่างหาก คนนั้นไม่ได้เรื่อง ก็ลองใหม่ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ปรับแก้กันไป ทั้งปรับใจตนเองและปรับคนอื่นไปพร้อมๆกัน 


ที่สำคัญ คนไหนดี คนไหนใช่ต้องกล้าทุ่มนะครับ ต้องดึงให้อยู่กับเราไว้ จะมาใช้ระบบเถ้าแก่โบราณ คงแทบจะไม่ได้แล้ว เพราะสมัยนี้เราทำเองทุกอย่างไม่ได้จริงๆ ด้วยระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนมากขึ้น และการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ


ทำธุรกิจยิ่งใหญ่เราต้องยิ่งใช้แรงงานน้อยลง เอาเวลาไปกับการใช้สมอง และสร้างคอนเนคชั่นให้มากนะครับ โชคดีครับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงแบบผิดๆ

ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น โดยส่วนตัวแล้วผมถือว่าเป็นทฤษฏีการดำรงชีวิต การบริหารจัดการ และประยุกต์ใช้ได้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี ที่สุดในโลกครับ ผมมีความเชื่ออย่างที่สุดว่า หากมนุษย์โลกผู้โง่เขลา ทุกคนได้เข้าใจถึงทฤษฎีนี้อย่างถ่องแท้แล้ว เราคงไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายขายปลาช่อน กันแบบปัจจุบันนี้ 


ทุกคนรู้จัก สิ่งที่ตนเองทำ ทุกคนพัฒนาตนเองในรูปแบบของความพอดี ไม่เบียดเบียนกัน ไ่ม่คดโกงกัน และอยูร่วมกันอย่างมีความสุข ทุกองคาพยพของสังคมของเราก็จะมีแต่ความสุขไปด้วยในท้ายที่สุด

แต่ในปัจจุบันนี้ ผมเห็นว่า ยังมีความเข้าใจผิดกันมากเกี่ยวกับคำว่าทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง หลายๆคนคิดว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือการเกษตรเท่านั้น หรือ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง คือการหลีกลี้หนีหายจากสังคมอันวุ่นวาย ไปสู่ความสงบเงียบในใจ ณ ป่าเขา เรือกส่วนไร่นา แห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น

ในเชิงอุดมคติ มันก็คงเป็นเช่นนั้นได้นะครับ แต่ในความเป็นจริง เราทุกคนไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะฉะันั้นผมเห็นว่า ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง คือการอยู่ร่วมกับสังคม ได้อย่างสงบกลมกลืนและไม่เบียดเบียนกันมากกว่า

ที่นี้เราลองวกกลับมาถึงในเรื่องของธุรกิจกันบ้าง หลายครั้งที่ผมเห็นว่า เจ้าของธุรกิจ หรือผู้บริหารนำคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นข้ออ้างของความไร้ความสามารถของตนเอง ผมเคยได้ยินเจ้าของธุรกิจท่านหนึ่ง บอกกับผมว่า ผมพอแล้ว คนเรารู้จักพอก็เป็นสุข 


ถูกครับ จริงครับ แต่ความจริงก็คือธุรกิจของท่านผู้นี้คนวงในก็ทราบดีว่า ไปไม่รอดแล้ว และท่านก็ไม่เคยแสดงความพอเพียงใดๆในชีวิตเลย จนกระทั่งถึงวันที่ธุรกิจของท่านต้องปิดตัวเองไปตามกาลเวลา และเมื่อมีคนซักถามว่าทำไมไม่ทำแล้วล่ะธุรกิจนี้ แล้วลูกหลานจะไปทำอะไรกินกัน ท่านจึงเลือกใช้คำตอบที่สวยหรูว่า ผมพอแล้วแทน

ถ้าเรื่องราวเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับใครสักคนหนึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องผิดเพี้ยนหนักหนาอะไร แต่ที่จะผิดก็คือว่าหากคนทำธุรกิจไม่เข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง และไม่คิดขยายธุรกิจกันอย่างเป็นระบบ มีวินัยแล้วล่ะก็คงต้องเจอสภาวะการแข่งขันบีบจนเอาตัวไม่รอดกันหมดประเทศนะครับ ถ้าธุรกิจเราไปไม่รอด กี่ชีวิตที่ต้องเดือดร้อนครับ ทั้งผู้ที่ต่อสู้ร่วมกับเรามา ลูกหลาน ที่คอยรับช่วงจากเรา สังคมที่ต้องการให้เราดูแลตอบแทน เมื่อเราพร้อม

การมีธุรกิจที่ใหญ่โต เราก็สามารถใช้ชีวิตพอเพียงได้ครับ ชีวิตส่วนตัว กับธุรกิจเป็นคนละเรื่องกันWarren Buffet มีทรัพย์สินมากกว่าพวกเราทุกคนรวมกัน แต่บ้านเขาไม่ได้ใหญ่โตไปกว่าบ้านผมเลยครับ คนอย่างนี้ครับที่เข้าใจถึงการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ที่แท้จริง


ทำธุรกิจ ต้องคิด ต้องสู้ ต้องขยายครับ เพียงแต่คุณต้องทำอย่างเป็นระบบ ไม่เกินตัว และที่สำคัญ ไม่เบียดเบียน ไม่นอกกติกา ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนครับ

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

SMEs จะปรับตัวอย่างไรดี เมื่อเจอไชน่าคอมเพล็กซ์

วันนี้ขอนอกเรื่องนิดหนึ่งนะครับ จะเ่ล่าถึงอะไรที่มันปัจจุบันทันด่วนกันสักนิด ผมได้พูดคุยกับบรรดาเพื่อนๆผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหลาย โดยเฉพาะพวกที่ค้าขาย แบบซื้อมา ขายไป รายกลาง รายใหญ่ทั้งหลายมีความกังวลกันในระดับสูงทีเดียวกับการมาของไชน่าคอมเพล็กซ์ ศูนย์ขายส่งสินค้ารายใหญ่จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่



ถามว่าทำไมต้องกลัวกันนักหนาล่ะ ก็เพราะว่า ใครๆก็ทราบว่าของจากประเทศจีนถูกกว่า แต่เมื่อก่อนอาจจะมี barrier ในเรื่องที่ว่าเขาต้องนำเข้ามา ผ่านผู้ประกอบการ หรือผ่าน trading ต่างๆ วันนี้ภาครัฐที่น่ารักอย่างยิ่งของเราก็เปิดประตูให้เหล่าพ่อค้า นักธุรกิจชาวจีนเข้ามาเปิดศูนย์ขายส่งสินค้าเองซะเลย อย่างนี้มันจะถูกขนาดไหนครับ คิดดู แล้วศูนย์ขายส่งเขาก็ใหญ่โต มโหฬาร มีแอร์ มีที่นั่ง มีที่จอดรอสะดวกสบาย อย่างนี้ใครจะอยากไปร้อนตับแตก ทะเลาะกับแม่ค้า ที่สำเพ็ง โบ๊เบ็ ประตูน้ำกันอีก น่ากลัวไหมครับ สำหรับผมขอบอกว่า น่ากลัวมาก กลัวเหลือเกินว่าตำนานย่านค้าส่งของชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีมาเป็นร้อยปี จะต้องจบลงด้่วยน้ำมือคนจีนด้วยกันก็คราวนี้เอง



แต่จะว่าก็ว่าเถิดครับ อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า รักจะทำธุรกิจต้องไม่กลัวความเปลี่ยนแปลง ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ข้อดีคือตอนนี้เรารู้ก่อน เราจะคิดได้ก่อน เราต้องเตรียมรับมือกันก่อนครับ ใครยังวางใจอยู่เฉยๆ ตอนนี้ก็ตัวใครตัวมันนะครับ แต่สำหรับผมอยากจะเสนอไอเดียกว้างๆถึงวิธีการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs เอาไว้หลายๆข้อดังนี้นะครับ



1. เมื่อเป็นศัตรูกันไม่ได้ก็มาเป็นมิตรกันดีกว่า -- ลองเปิดหู เปิดตาดูกว้างๆนะครับ ไชน่าคอมเพล็กซ์เขาก็จะแบ่งพื้นที่ให้พวกเราเข้าไปเช่าได้ด้วย ลองดูลู่ทางนี้ว่าเรามีอะไรไปตีตลาดเขาบ้าง
2. พัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราขึ้นมาเอง -- สร้างแบรนด์ของเราขึ้นมาเอง หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีข้อแตกต่างโดดเด่นขึ้นมา
3. พัฒนารูปแบบและช่องทางการขายใหม่ๆ -- ลองดูซิว่า E-Commerce จะช่วยเราได้ไหม หรือการไปเหยียบจมูกพญามังกร ตั้งบริษัทมันซะที่เมืองจีน หรือประเทศที่สามเองเลย เพื่อขายส่งสินค้าของเราออกไปบ้าง



เท่าที่จะคิดได้ก็พอจะแนะนำได้เท่านี้นะครับ แต่ไม่ว่าคุณจะคิดอะไรจะทำอะไรแค่ไหน ต้องขอบอกสิ่งที่สำคัญที่สุดเอาไว้นะครับว่า คุณต้องรีบแล้วครับ อยู่เฉย นิ่งดูดายไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียวแล้วครับ

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การขยายธุรกิจส่วนตัว: คนที่ผู้ที่อยากทำธุรกิจส่วนตัวควรจะหนีให้ไกล

ผมชอบสุภาษิตไทยโบราณที่บอกว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิต พาไปหาผล มากๆครับ อันนี้เราไม่ได้ประยุกต์ใช้เฉพาะกับคนพาลเท่านั้น เราประยุกต์ใช้ได้กับทุกสิ่งรวมทั้งในเชิงธุรกิจด้วย บางครั้งเวลาที่เราจะคิดจะทำอะไร หรือเราต้องการเป็นคนแบบไหน เราต้องหลีกเลี่ยง ที่จะเสวนาหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีทัศนคติแตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิงเข้าไว้นะครับ

อันนี้ไม่ได้หมายความว่าให้คุณ เป็นคนไม่รับฟังความเห็นของใคร รับฟังได้ครับ พิจารณาเอา ถ้าตัดสินใจแล้วว่ามันคนละทางกันก็จงอย่าไปเสียเวลาเอาตัวเองไปคลุกคลีกับทัศนคติเชิงลบแบบนั้นครับ เพราะคนเรามันมีคนประเภทหนึ่งที่คิดว่าหลายๆคนคงเคยได้ประสบมาบ้างไม่ว่าคุณจะอยู่ในวงการใด

พวกนี้เราเรียกว่า พวกนามสกุลเก่งวิจารณ์ครับ คือไม่ว่าเราจะทำอะไรแกเป็นเสนอความเห็นแนะนำในสิ่งที่แกคิดว่าดีกว่าเสมอ แต่เชื่อเถอะครับว่าคนประเภทนี้ให้มาทำอะไรเองจริงๆทำไม่ได้หรอก ที่สำคัญพอเราพลาดแกก็จะบอกว่า เห็นไหมบอกแล้วไม่เชื่อ มันน่าจะเจ็บใจนะครับ เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดก็อย่าไปอยู่ใกล้ๆคนประเภทนี้ดีกว่า

ลองนึกสภาพดูนะครับว่าเวลาที่เราจะคิดจะทำอะไรแล้วคนที่มีทัศนคติในเชิงลบนี้ได้รับรู้ ก็จะพูดไม่เห็นด้วยทุกครั้ง  และพูดจาถึง worst case ที่จะเกิดขึ้นของสิ่งที่ทำเสมอ พอเราฟังมากๆเข้าความฮึกเหิมในใจเราก็น้อยลง เกิดความกลัวไม่กล้าจริงๆ และสิ่งที่น่าเจ็บใจก็คือ เมื่อเราผิดพลาดคนประเภทนี้ก็จะบอกว่า ก็เพราะไม่ยอมฟังคำเตือนของเขา แต่พอเราประสบความสำเร็จขึ้นมาก็ทะลึ่งมาบอกว่า ก็เพราะเขาตักเตือนถึงลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้
วิธีการแยกแยะที่ปรึกษาเชิงสร้างสรรค์กับพวกเก่งวิจารณ์นะครับ

ประการแรก ง่ายที่สุดก็คือใช้ความรู้สึกของตัวเองครับว่า เราคุยกับคนไหนที่เขาคัดค้านเรา แล้วเรารู้สึกว่าเขาหวังดีกับเราจริงๆ หรือเป็นพวกดีแต่ขัด วิจารณ์คนอื่นเพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้น พวกนี้บางทีเรา sense ได้นะครับ

ประการที่สอง ลองดูภูมิหลังของคนก็ได้ พวกเก่งวิจารณ์นี้ส่วนมากจะไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในชีวิตหรอกครับ ไม่เคยสร้างธุรกิจ หรืออะไรที่ยิ่งใหญ่สักอย่างเดียว เพราะวันๆมองแต่โลกในแง่ลบ คิดได้ทำไม่ได้ จะเป็นพวกล้อมวงเล่นหมากรุก หรือวิจารณ์การเมืองไปวันๆมากกว่า คนที่คุณจะคุยด้วยได้อย่างสร้างสรรค์นั้น จะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หรือถ้าไม่ใช่ธุรกิจก็เคยสร้าง เคยทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโรงงาน เกษตรกร คนงานก่อสร้าง ทุกอาชีพจะสามารถเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ได้ และมีพวกเก่งวิจารณ์รวมกันอยู่ทั้งนั้น
 
ข้อสุดท้ายที่เราจะแยกแยะได้ ก็คือหากได้รับคำติเตียน หรือทักท้วงมาลองถามกลับไปนะครับว่า แล้วควรจะทำอย่างไรดี เชื่อเถอะครับพวกเก่งวิจารณ์จะตอบคุณไม่ได้ หรือแถแบบไม่ได้ศัพท์เป็นคนละคนกับตอนค้านทีเดียว แต่ที่ปรึกษาเชิงสร้างสรรค์นั้น จะให้คำตอบข้อคิดดีๆ ที่คุณต้องเอะใจหรือกลับมาคิดปรับปรุงอะไรได้หลายอย่างเลยครับ

อย่าลืมนะครับ จะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ให้หลีกห่างคนใจมดเข้าไว้ครับ

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การตัดราคา: กลยุทธ์สิ้นคิดของคนทำธุรกิจส่วนตัว

โดยส่วนตัวของผม กับประสบการณ์ในการทำธุรกิจส่วนตัวที่ผ่านมา ผมต้องขอบอกว่าผมไม่เคยใช้วิธีการตัดราคาในการได้มาซึ่งลูกค้า หรือเอาเปรียบคู่แข่งเลย เพราะผมเห็นว่ามันเป็นกลยุทธ์ที่สิ้นคิดมากๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ทุกคนคงเคยเห็นร้านถ่ายเอกสารใช่ไหมครับ ก่อนหน้านี้ไม่นาน เขาจะถ่ายกันหน้าละ 50 สตางค์แต่ดันมีคนทะลึ่ง คิดว่าถ้าลดราคาลงกว่านั้นนิดหน่อย คนคงจะแห่มาถ่ายกับเรามากมายแน่ๆ เลยลดราคาลงมาครับ ผมจำได้ว่าเริ่มจาก 48 สตางค์ก่อน

ผลลัพธ์ก็เป็นจริงในช่วงแรกๆครับ คือลูกค้าแห่มาทำกับร้านมากขึ้นด้วยกำไรที่น้อยลง แต่แล้วเป็นอย่างไรต่อไปครับ ใครจะยอมเจ๊ง คู่แข่งก็ต้องลดราคา dumpลงมาอีก ทีนี้จะลดมาเท่ากันก็กระไร เอาเลย 45 สตางค์ ทำอย่างนี้กลับไป กลับมาเรื่อย จนตอนนี้เริ่มเห็น 33 สตางค์แล้วครับ สรุปตอนนี้เป็นอย่างไรครับ ทั้งธุรกิจได้กำไรน้อยลงไปร่วม 40% ต่อหน้าแล้ว

และสุดท้ายก็ไม่มีใครได้เปรียบ เสียเปรียบใคร สาเหตุเพราะว่า

1. ลดราคามันทำกันง่าย และเลียนแบบกันง่าย -- คุณทำได้ คู่แข่งก็ทำได้ สุดท้ายทุกคนไม่ได้เปรียบแถมเสียเปรียบเพราะกำไรน้อยลงทุกคน
2. ลดราคา กำไรน้อยลง มูลค่าเพิ่มของธุรกิจก็น้อยลง -- สุดท้ายเมื่อของจริงมา หรือนวัตกรรมใหม่ๆมาคุณก็ปรับตัวกันไม่ได้ เพราะไปหมกมุ่นอยู่แต่กับการลดราคา

ไม่ใช่แค่ธุรกิจถ่ายเอกสารครับ มีอีกหลายธุรกิจ หรือคนทำธุรกิจส่วนตัวอีกหลายกลุ่ม พวกร้านถ่ายรูปก็ตัวดี ตัดกันจนเจ็บปวดไปตามๆกัน คุณจะสังเกตว่า การตัดราคานั้น เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ผู้เล่นในวงการนั้นจะเรียนรู้ไปเอง(ถ้ายังไม่เจ๊งกันไปก่อน) ว่ามันไม่เวิร์คและเราควรจะเอาเวลาไปนั่งทำอย่างอื่นกันดีกว่า ถ้าคุณศึกษาธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว เขาจะมีวิธีการหลีกหนีสงครามราคากันอย่างชาญฉลาดและน่าศึกษามากครับ

ทีนี้อาจมีคนบอกว่า อ้าวก็ลดราคามันทำได้ง่าย ก็เลยทำกัน เพื่อเปิดตัวเองเข้าสู่ตลาดไงล่ะ คำตอบผมยังยืนยันเหมือนเดิมครับ ว่าการตัดราคาเป็นอะไรที่สิ้นคิดที่สุด กลับไปอ่าน 2 ข้อด้านบน แล้วมองให้ไกลอีกนิดหนึ่งคุณจะเข้าใจครับ

คำถามต่อไปก็คือ แล้วถ้าไม่ตัดราคาจะให้ทำยังไง (วะ) คิดกันอย่างอื่นไม่ออกแล้วจริงๆ

โอเคครับ บทความต่อไป ผมจะบอกให้ว่า ทำธุรกิจคิดอย่างอื่นได้อีกมากมายแถมสนุกกว่าการตัดราคาอีกเยอะ

วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ธุรกิจส่วนตัว | ช่วงเวลาที่เหมาะกับการขยายธุรกิจส่วนตัว

ช่วงเวลาที่เหมาะกับการขยายธุรกิจส่วนตัว

ความจริงแล้ว เรื่องของช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขยายธุรกิจนี้เป็นเรื่องที่เหมือนกับ common senseนะครับ แต่แปลกมากที่ธุรกิจ SMEs หลายแห่งทำไม่ได้ หรือไม่คิดจะทำ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการขยายธุรกิจก็คือช่วงเวลาที่เราพร้อมที่สุด หรือพูดง่ายๆก็คือ ช่วงเวลาที่ธุรกิจของเราอยู่ในขาขึ้นนั่นเอง

แต่ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่นั้น จะขยายธุรกิจหรือ จะหาอะไรใหม่ๆทำก็ต่อเมื่อรู้สึกว่ารายได้เดิม หรือเนยแข็งของเราใกล้จะหมดแล้ว บางรายร้ายกว่านั้น เลยไปจากขั้นของความรู้สึกเสียอีก ทำเมื่อชักจะแย่แล้ว อย่างนี้แนวโน้มที่จะรอด หรือจะประสบความสำเร็จในธุรกิจใหม่ๆก็น้อยนะครับ และก็จะพาลดึงกันไปดึงกันมาจนล้มไปหมด

สาเหตุง่ายๆของสิ่งเหล่านี้ก็คือ ผู้ประกอบการ SMEs หรือคนทำธุรกิจส่วนตัว หรือธรรมชาติของคนเราทั่วไปนั้น ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง อุตส่าห์ต่อสู้มาเลือดตาแทบกระเด็น จนธุรกิจอยู่ตัวแล้ว

ก็อยากจะพักผ่อน นอนกินเงินสบายๆจากน้ำพักน้ำแรงของเราบ้าง แต่ปรากฎว่าเมื่อมารู้ตัวอีกที ธุรกิจส่วนตัวของคุณ ก็สู่ cycle ขาลงแล้ว ต้องมาดิ้นรน ขยับขยายหาอะไรใหม่ๆอีก เงินทองก็ไม่คล่องมือเหมือนเดิม รับความเสี่ยงได้น้อย เพราะธุรกิจเดิมของเราก็อยู่ในขาลงแล้ว

ผู้ประกอบการควรจะเข้าใจว่า เมื่อรักจะทำธุรกิจแล้ว ไม่ีมีคำว่าหยุดพัก แม้กระทั่งเวลานอนนะครับต้องคิดปรับแต่งขยับขยายตลอดเวลา เมื่อธุรกิจคุณอยู่ในขาขึ้น คุณก็มีเงิน มีทองพร้อม มีทรัพยากรพร้อมและที่สำคัญกำลังใจพร้อมที่จะรับความเสี่ยงได้ เวลาที่คุณจะขยายธุรกิจที่ดีที่สุด คือเวลานี้

อีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรจะเข้าใจก็คือ ไม่มีธุรกิจใดที่คงอยู่ได้ในสถานะเดิมได้ตลอดไป ถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย คิดว่าจะนอนกินสบายๆ ผมว่าไม่เกิน 2-3 ปีเสียด้วยซ้ำ ที่คุณจะรู้สึกได้ว่ามันไม่โต หรือเริ่มตัน เพราะฉะนั้นการคิด ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งที่ SMEs จำเป็นจริงๆที่จะต้องทำ อย่ารอ และอย่าอยู่เฉยๆแม้แต่วันเดียวครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าความแตกต่างระหว่าง SMEs ที่ประสบความสำเร็จกับ ผู้ที่ล้มเหลวก็อยู่ตรงนี้เอง คือใครที่รู้จักพัฒนาหาอะไรใหม่ๆมาสู่องค์กรอยู่เรื่อยๆ ก็จะเจริญเติบโตขึ้นไปได้เรื่อยๆ หรืออย่างน้อยก็คือ รอดตาย แต่คนที่ไม่รู้จักพัฒนาปรับปรุงตนเอง ก็จะต้องค่อยๆล้มหายตายจากไปในที่สุด

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความแตกต่างระหว่างการขยายธุรกิจส่วนตัวกับจับฉ่าย ตอนที่ 2: รู้ได้อย่างไรว่าพร้อม

คุณสามารถที่จะรู้ได้ว่าตัวเองพร้อมแล้วที่จะขยายธุรกิจส่วนตัวต่อไป ด้วยการวัดผลที่เป็นรูปธรรมง่ายๆ ทั้งนี้คุณต้องเข้าใจก่อนว่า บทความทั้งหมดของผมจะเน้นไปที่ SMEs เป็นหลัก เพราะหากไม่ใช่ SMEs แล้วคุณสามารถไปจ้างบริษัทวิจัย หรือบริษัท audit บัญชีมาตรวจสอบสภาพความพร้อมของบริษัทของคุณได้ โดยที่ไม่ต้องใช้หมวดสถิติและความรู้สึกอะไรกันมากมาย

แต่ในเมื่อความเป็นจริง คุณไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ด้วย ขนาดธุรกิจและปัจจัยทางการเงินรวมถึงทรัพยากรต่างๆ SMEs จึงต้องมีวิธีการในการวัดผลตนเองว่า ถ้าออกศึกครั้งใหม่จะมีแนวโน้มที่จะรบชนะ และไม่โดนข้าศึกเก่ามาชิงเมืองหลวงไป

ประการแรก ก็คือเรื่องเงินนั่นเองครับ ตรวจสอบสภาพความพร้อทางด้านการเงินของตนเอง ประเมินเงินลงทุนที่จะต้องใช้ในธุรกิจใหม่ และเทียบกับเงินที่เรามีอยู่ ถ้าจำเป็นต้องกู้ เรามีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายได้แค่ไหนอย่างไร ธุรกิจส่วนตัวเดิมเราจะหมุนมาจ่ายได้ไหม อันนี้ Judegement ก็ต้องแล้วแต่สไตล์ของคนว่า เป็นคนกล้าลุยกล้าเสี่ยงขนาดไหน แต่สำหรับผมแล้ว เป็นสไตล์อนุรักษ์นิยมจ๋านะครับ ถ้าเงินไม่พอ เราไม่ก้าวเด็ดขาด ต้องแบบเจ๊งก็ไม่เจ็บจะครับ ถึงจะยอมไป ก็แล้วแต่สไตล์ครับ

ประการที่สอง เวลา ถ้าคุณยังต้องจัดการธุระทุกอย่างในธุรกิจเดิมของคุณเองอยู่ จนหัวไม่ได้วาง หางไม่ได้เว้นแล้วล่ะก็ อาจจะต้องคิดดูว่าจะบั่นทอนชีวิตตัวเองเพิ่มดีหรือไม่ จะได้ประโยชน์หรือเปล่า ถ้าคุณคิดจะทำแล้วอาจจะต้องเริ่มผ่องถ่ายอะไรๆ ที่มันไม่จำเป็น หรือที่มันไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าของธุรกิจ ออกไปให้คนอื่น ให้ลูกน้องหรือคนที่ไว้ใจได้ เพื่อให้คุณออกไปลุยได้อย่างเต็มที่ หรือจะคิดส่งแม่ทัพออกไปลุยแทนก็ต้องเอาคนที่มันเด็ดดวงจริงๆ ได้ดั่งใจมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้ว หาได้ยากจริงๆในฐานะ SMEs คนที่จะมาทำให้เราแบบนี้ก็คงต้องการค่าตอบแทนสูงจริงๆ ซึ่งกับการบุกเบิกธุรกิจใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าจะลูกผี ลูกคน เราจะพร้อมจ่ายขนาดนั้นหรือครับ ส่วนมากเราก็ต้องมานั่งทำกันเองมากกว่า

ส่วนประการสุดท้ายก็เป็นเรื่องธุรกิจรอบใหม่ที่เราจะไปลง ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็ต้องแล้วแต่วิชาของแต่ละคนที่จะบุกเบิกกันเอง

เมื่อคุณพิจารณาสามประการนี้อย่างรอบคอบและถ่องแท้แล้ว ก็ถึงเวลาแล้วครับ ที่จะลุยกันอย่างเต็มตัว ฮึกเหิมกันแล้วนะครับ เตรียมตัวเจอกันในตอนหน้าได้เลยครับ