วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

4 สัญญาณเตือนให้หยุดธุรกิจ E-commerce ก่อนจะสาย



เดี๋ยวนี้มีคนทำธุรกิจแบบออนไลน์กันเยอะ ซึ่งก็มีข้อดีต่างๆ และก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน 4 สัญญาณเตือนอะไรที่ควรเตรียมตัวก่อนการเริ่มธุรกิจ หรือไม่ควรปล่อยให้ถลำลึกไปกว่านี้ ลองมาดูกันเลยครับ

สัญญาณสำคัญลำดับที่หนึ่ง... ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่อง
สภาพคล่องของธุรกิจเปรียบเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงกิจการให้เติบโต หากธุรกิจใดขนาดสภาพคล่องนั่นหมายถึงขึ้นล้มละลายได้เลยนะครับ! ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็ก หรือธุรกิจขนาดใหญ่การรักษาสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญที่จะเพิกเฉยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ E-commerce ที่ต้องซื้อมา-ขายไป สัญญาณที่บ่งบอกว่าธุรกิจเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องก็คือ สต็อกสินค้าเราเริ่มบวม มีสต็อกมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจเป็นเพราะเราบริหารสินค้าไม่ดีทำให้สินค้าล้าสมัยตกค้างในสต็อก หรือเป็นเพราะว่าสภาพเศรษฐกิจไม่ดีขายของได้ยากขึ้น วิธีแก้ไขก็คือ หากเราเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ควรลดปริมาณสินค้าคงคลังลงบ้าง ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เพื่อรักษาธุรกิจเอาไว้ยามเกิดพายุลมแรงนะครับ

สัญญาณสำคัญลำดับที่สอง... คู่แข่งเริ่มมากขึ้น
ธุรกิจ E-commerce มีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่งที่ค่อนข้างจะสำคัญก็คือ การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจประเภทซื้อมา-ขายไป และสินค้าที่ไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง หรือแบรนด์ยี่ห้อสินค้ายังไม่แข็งแรงมากพอ... ด้วยความง่ายของการทำธุรกิจ E-commerce หากธุรกิจเราดำเนินได้ด้วยดี มีกำไรขั้นต้นสูงๆ ก็มักจะจูงใจให้คนอื่นๆ อยากเข้ามาในธุรกิจของเราบ้าง เมื่อคู่แข่งเริ่มมากขึ้น อาจเกิดสงครามราคา เพื่อแย่งชิงลูกค้า สำหรับ “สงคราราคา” นั้นไม่เป็นผลดีกับผู้ประกอบการอย่างแน่นอน วิธีแก้ก็คือ เราควรเน้นขายสินค้าแบบยั่งยืน ด้วยการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ควรทำความเข้าใจลูกค้าว่าทำไมจึงเลือกซื้อสินค้าของเรา หมั่นตรวจสอบพฤติกรรมผู้บริโภคบ่อยๆ อย่าประมาทโดยเด็ดขาด ไม่ใช่เรารู้ตัวก็ต่อเมื่อลูกค้าตีจากไปแล้วนะครับ

สัญญาณเตือนลำดับที่สาม... สัญญาณข้อติติงจากลูกค้า
การทำธุรกิจ E-commerce ที่ลูกค้าต้องซื้อสินค้าโดยไม่ได้จับต้องสินค้าจริงๆ แถมยังต้องโอนเงินให้กับผู้ขายก่อนได้รับสินค้า แน่นอนที่สุดว่าธุรกิจแบบนี้ต้องอาศัย “ความเชื่อใจ” เป็นหลัก... หากเราเคยสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เราจะรู้ได้เลยว่า “ระยะเวลาในการรอคอยสินค้า” นั้นมันทรมานขนาดไหน ระยะเวลาการส่งมอบสินค้าแท้ที่จริงแล้วถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากเรารับปากลูกค้าแล้วควรส่งให้ตามกำหนดเวลายกเว้นมีเรื่องฉุกเฉิน นอกจากนั้นก็คือ คุณภาพสินค้า การบริการของเรา สิ่งเหล่านี้รวมๆ แล้วคือ ประสบการณ์ในการซื้อสินค้าออนไลน์ หากทำให้ลูกค้าประทับใจ ก็จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับการขายสินค้าชิ้นต่อๆ ไป... ในทางกลับกัน หากลูกค้ามีข้อ “ติติง”  แต่เรากลับเมินเฉย ถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุค Social Media เพราะถ้าเราบริการไม่ดีจริงๆ ข่าวด้านไม่ดีของเราก็จะถูกแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว สำหรับเจ้าของ E-commerce นั้นไม่ควรละเลยสัญญาณข้อติติงของลูกค้าไม่ว่ากรณีใดๆ นะครับ

สัญญาณเตือนลำดับที่สี่... ตรวจสอบสภาวะเศรษฐกิจ
เมื่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ... ผู้คนก็จะเริ่มเข้าสู่โหมด “ประหยัด” สำหรับผู้ประกอบการ E-commerce ควรตรวจสอบภาวะเศรษฐกิจเป็นระยะๆ เพื่อนำมาปรับแผนการประกอบกิจการให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจด้วยนะครับ เพราะหากเศรษฐกิจไม่ดี ขายของได้ยากขึ้น เราก็จะขาดสภาพคล่อง สินค้าคงคลังหากเราสั่งไว้มากจนเกินไปก็จะค้างสต็อก และจะส่งผลตามมาอีกมากมาย... อย่างไรก็ตาม การปรับกิจกรรมการขายของของเราสามารถทำได้ด้วยการนำเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความ “คุ้มค่า” ในการซื้อสินค้าของเราในยามเศรษฐกิจไม่ดี ว่าที่จริงช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีอาจเป็นช่วงเวลาทองของคนที่เตรียมพร้อม เพราะคู่แข่งการค้าที่ไม่ปรับตัวอาจจะล้มหายตายจากไป และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้ง ผู้อยู่รอดก็จะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวในที่สุดครับ

ผู้ประกอบการที่ดีควรหมั่นตรวจสอบสัญญาณทั้งสี่ประการสำหรับคนทำธุรกิจ E-commerce ด้วยความไม่ประมาท... ลองปรับไปใช้กันดูนะครับ


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.krungsri.com