วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การตัดราคา: กลยุทธ์สิ้นคิดของคนทำธุรกิจส่วนตัว

โดยส่วนตัวของผม กับประสบการณ์ในการทำธุรกิจส่วนตัวที่ผ่านมา ผมต้องขอบอกว่าผมไม่เคยใช้วิธีการตัดราคาในการได้มาซึ่งลูกค้า หรือเอาเปรียบคู่แข่งเลย เพราะผมเห็นว่ามันเป็นกลยุทธ์ที่สิ้นคิดมากๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ทุกคนคงเคยเห็นร้านถ่ายเอกสารใช่ไหมครับ ก่อนหน้านี้ไม่นาน เขาจะถ่ายกันหน้าละ 50 สตางค์แต่ดันมีคนทะลึ่ง คิดว่าถ้าลดราคาลงกว่านั้นนิดหน่อย คนคงจะแห่มาถ่ายกับเรามากมายแน่ๆ เลยลดราคาลงมาครับ ผมจำได้ว่าเริ่มจาก 48 สตางค์ก่อน

ผลลัพธ์ก็เป็นจริงในช่วงแรกๆครับ คือลูกค้าแห่มาทำกับร้านมากขึ้นด้วยกำไรที่น้อยลง แต่แล้วเป็นอย่างไรต่อไปครับ ใครจะยอมเจ๊ง คู่แข่งก็ต้องลดราคา dumpลงมาอีก ทีนี้จะลดมาเท่ากันก็กระไร เอาเลย 45 สตางค์ ทำอย่างนี้กลับไป กลับมาเรื่อย จนตอนนี้เริ่มเห็น 33 สตางค์แล้วครับ สรุปตอนนี้เป็นอย่างไรครับ ทั้งธุรกิจได้กำไรน้อยลงไปร่วม 40% ต่อหน้าแล้ว

และสุดท้ายก็ไม่มีใครได้เปรียบ เสียเปรียบใคร สาเหตุเพราะว่า

1. ลดราคามันทำกันง่าย และเลียนแบบกันง่าย -- คุณทำได้ คู่แข่งก็ทำได้ สุดท้ายทุกคนไม่ได้เปรียบแถมเสียเปรียบเพราะกำไรน้อยลงทุกคน
2. ลดราคา กำไรน้อยลง มูลค่าเพิ่มของธุรกิจก็น้อยลง -- สุดท้ายเมื่อของจริงมา หรือนวัตกรรมใหม่ๆมาคุณก็ปรับตัวกันไม่ได้ เพราะไปหมกมุ่นอยู่แต่กับการลดราคา

ไม่ใช่แค่ธุรกิจถ่ายเอกสารครับ มีอีกหลายธุรกิจ หรือคนทำธุรกิจส่วนตัวอีกหลายกลุ่ม พวกร้านถ่ายรูปก็ตัวดี ตัดกันจนเจ็บปวดไปตามๆกัน คุณจะสังเกตว่า การตัดราคานั้น เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ผู้เล่นในวงการนั้นจะเรียนรู้ไปเอง(ถ้ายังไม่เจ๊งกันไปก่อน) ว่ามันไม่เวิร์คและเราควรจะเอาเวลาไปนั่งทำอย่างอื่นกันดีกว่า ถ้าคุณศึกษาธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว เขาจะมีวิธีการหลีกหนีสงครามราคากันอย่างชาญฉลาดและน่าศึกษามากครับ

ทีนี้อาจมีคนบอกว่า อ้าวก็ลดราคามันทำได้ง่าย ก็เลยทำกัน เพื่อเปิดตัวเองเข้าสู่ตลาดไงล่ะ คำตอบผมยังยืนยันเหมือนเดิมครับ ว่าการตัดราคาเป็นอะไรที่สิ้นคิดที่สุด กลับไปอ่าน 2 ข้อด้านบน แล้วมองให้ไกลอีกนิดหนึ่งคุณจะเข้าใจครับ

คำถามต่อไปก็คือ แล้วถ้าไม่ตัดราคาจะให้ทำยังไง (วะ) คิดกันอย่างอื่นไม่ออกแล้วจริงๆ

โอเคครับ บทความต่อไป ผมจะบอกให้ว่า ทำธุรกิจคิดอย่างอื่นได้อีกมากมายแถมสนุกกว่าการตัดราคาอีกเยอะ